Blog:ผลงานเขียนของฉัน@Journalis

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สารคดีเชิงข่าว


“ปัญหาชาวนาไทยลดลงไม่มีคนปลูกข้าว อนาคตคนไทยอาจขาดข้าว”



ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้นๆของประเทศไทย แต่ชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติก็ยังมีฐานะยากจนและมีหนี้สินมากมาย พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวกลับมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด กลับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารเป็นส่วนใหญ่ อายุเฉลี่ยของชาวนาปัจจุบันอยู่ที่อายุ 47 – 51 ปี โดยพบว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่นิยมทำนา ส่วนใหญ่จะเข้าเมืองหางานทำ ทำให้น่ากังวลว่าอนาคตข้างหน้าจะทำอาชีพชาวนาลดลง และยังมีปัญหาอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนา
ไม่ว่าจะเป็น  ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวสูง เช่น ราคาน้ำมันแพง ปุ๋ยราคาแพง ปัญหาการเช่าที่ดินทำนาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางทำให้ผลผลิตขายได้ราคาถูก ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืช ปัญหาการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ชาวนาส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานแทนการทำนาเอง เช่น จ้างหว่านปุ๋ย - ฉีดยา จ้างรถเกี่ยวข้าว เป็นต้น สิ่งนี้คือปัญหาที่เกิดกับปัญหาชาวนาซ้ำๆซาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่และเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงยิ่งนักก็คือ “ปัญหาชาวนาไทยลดลงไม่มีคนปลูกข้าว อนาคตคนไทยอาจขาดข้าว”
จากการที่ได้ไปพูดคุยกับท่านเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ขวัญใจ โกเมศ พูดถึงการปลูกข้าวสมัยอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างไร ท่านกล่าวว่า “สมัยอดีตชาวนาปลูกข้าวเพื่อกินในครัวเรือนก็จะใช้พันธุ์ข้าวที่ตนเองชอบกิน แต่พอปัจจุบันปลูกข้าวไว้เพื่อขายก็ต้องปลูกพันธุ์ข้าวที่พอขายได้หรือเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวก็จะส่งให้โรงสีทั้งหมด บางทีต้องไปซื้อข้าวที่ตลาดมากิน ไม่มียุ้งฉางให้เก็บเหมือนสมัยอดีต วิธีการทุกอย่างจะแตกต่างไปจากอดีตอย่างมาก ส่วนเทคโนโลยีสมัยอดีตไม่ต้องไปพึ่งพาเทคโนโลยีในการเร่งผลผลิต ไม่ต้องซื้อยา ใส่ปุ๋ย ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ผิดกลับสมัยปัจจุบันต้องปลูกข้าวที่ตลาดต้องการ ต้องมีผลผลิตเยอะๆ ต้องมีกำไร จึงมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกข้าวอย่างเห็นได้ชัดเจน
ปัญหาอันดับแรก ที่พูดถึงกันในวันนี้ คือ พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด กลับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเป็นเพราะอาชีพชาวนามีความเสี่ยงสูง ใช้ต้นทุนสูงในการผลิต และส่วนใหญ่ราคาหรือผลกำไรจากการขายข้าวจะได้น้อยกว่าค่าต้นทุนในการผลิตเสียอีก พูดง่ายก็คือราคาข้าวตกต่ำ ถ้าเทียบกับการปลูกยางพาราหรือพืชที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่ไม่ต้องดูแลรักษาผลผลิตอะไรมากมาย แต่ได้ค่าผลผลิตผลตอบแทนที่สูงกว่า
“ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยผลิตข้าวได้ไม่มากพอที่จะมีเหลือเพื่อส่งออก  หรืออาจถึงขั้นวิกฤตที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศด้วยซ้ำ  หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไป ก็น่าเสียดายที่คนไทย โดยเฉพาะชาวนาไทยจะต้องสูญเสียความภาคภูมิใจในข้าวไทยที่มีมานาน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก”  ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ได้หาแนวทางแก้ไขมาหลายครั้งแต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของชาวนามากนัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการของการรับจำนำราคาข้าวกับการประกันราคาข้าว ในความคิดของท่านเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยฯ เห็นว่าโครงการรับประกันราคามีประโยชน์ต่อชาวนามากที่สุด “เพราะเป็นการค้าขายแบบเสรี ชาวนาจะค้าข้าวเมื่อไรก็ได้ บิดเบือน  เป็นการประกันว่าชาวนาจะขายข้าว ได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท (และจะปรับขึ้น ในปีต่อไป) แม้ว่าราคาข้าวในท้อง ตลาดจะเป็นเท่าไรทางรัฐจะชดเชยส่วนที่ขาดหายไปให้ ปัญหาทุจริตคอรัปชันจากเจ้าหน้าที่รัฐมีน้อยมากเพราะเงินสู่มือชาวนาโดยตรงผ่านธนาคาร
ธ.ก.ส.” ในของส่วนโครงการรับจำนำข้าว “เป็นโครงการที่มีการทุจริตคอรัปชั่นสูง ชาวนาจะได้รับเป็นเงินสดทันทีเมื่อขายข้าว  จะทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้าพ่อค้าไม่รับซื้อ ในราคาสูงก็ไม่มีข้าวขายเพราะรัฐจะซื้อเองหมด”
แต่ชาวนาจะชอบโครงการรับจำนำข้าวมากกว่าเพราะได้เงินสดกลับมาทันที นำเงินไปใช้จ่ายได้เลย ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ซึ่งสิ่งนี้ชาวนาน่าจะทบทวนสักนิดว่าโครงการไหนมีประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด
และยังมีเรื่องของภัยธรรมชาติที่ยากต่อการควบคุม ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม จึงทำให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อความอยู่รอดของชีวิตเขา นี้ก็คือปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เราจะต้องสอนให้ชาวนารู้จัดกับการจัดการในการทำนา รายได้ และความเสี่ยงให้น้อยลง “อยากจะทางภาครัฐบาลมาแก้ไข้ปัญหาระยะยาวมากกว่าที่จะมาแก้ไข้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ อาจจะเรื่องของการชลประทานเข้ามาช่วยของน้ำท่า มีการส่งเสริมงานวิจัยเรื่องพัฒนาพันธุ์ข้าว ให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทนต่อสภาพอากาศในปัจจุบัน”
ปัญหาอันดับสอง จำนวนชาวนามีแนวโน้มลดลง อายุเฉลี่ยของชาวนาจะอยู่ที่อายุ 47 – 51 ปี โดยพบว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่นิยมทำนา ส่วนใหญ่จะเข้าเมืองหางานทำ ทำให้น่ากังวลว่าอนาคตข้างหน้าจะทำอาชีพชาวนาลดลง “อาจจะเพราะพ่อแม่ที่เป็นชาวนาไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนตนเองจึงส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนสูง ยอมแม้กระทั่งไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อที่จะส่งให้ลูกๆหลานได้เรียนสูงๆ จะได้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ส่วนปัจจุบันราคาสูงขึ้น ทำให้เห็นถึงความสำคัญของชาวนามากขึ้น ทำให้วัยหนุ่มสาวหันกลับมาปลูกข้าวอีกครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ”
เมื่อพูดถึงปัญหาจำนวนชาวนามีแนวโน้มลดลง ท่านเลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยฯได้พูดถึง โครงการ อนุชนชาวนาไทย ความอยู่รอดของข้าวไทย เป็นโครงการเพื่อปลูกจิตสำนึกและบ่มเพาะแนวคิดให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของข้าวต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย  สนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนลูกหลานชาวนาเรียนรู้เทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัยเพื่อเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์และปรับปรุงวิถีชีวิตของชาวนาไทยในยุคใหม่ให้ดีขึ้น โดยนำลูกหลานชาวนาที่มีอาชีพทำนาจริง มีความสนใจในการเกษตร มาร่วมโครงการซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี “ลูกหลานชาวนาบางคนก็นำสิ่งที่ได้รับความรู้จากการอบรมไปพัฒนาพื้นนาของตน หรือบางคนอยากจะเป็นนักวิจัยพันธุ์ข้าวเองด้วยซ้ำ ซึ่งก็ถือเป็นผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก”
ประเทศไทยเราเป็นที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุดและนำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ อยากจะฝากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันไม่ว่าจะภาครัฐบาล ศูนย์งานวิจัย แม้กระทั่งตัวชาวนาเองก็ตาม ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว และมองการณ์ไกล เพื่อให้อาชีพชาวนาไทยให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน ส่งเสริมให้ชาวนารู้จักการจัดการผลผลิต เงินทองของตนเอง และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการการทำนาที่ทันสมัย จะช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตของชาวนาไทยในยุคใหม่ให้ดีขึ้น กระตุ้นให้ชาวนาไทยมีศักยภาพการผลิตข้าวเพื่อการค้า สามารถแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ดี
วิภาวรรณ พุทธหอม 5354006123 สาขาวารสารศาสตร์สื่อประสม คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น